ชัชชาติ หาเสียงโค้งสุดท้าย ตลาดสะพานควาย – ดินแดง

วันนี้ (5 พ.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หมายเลข 8 ลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งโค้งสุดท้าย เดินหน้าขอคะแนนเสียงพ่อค้าแม่ค้าย่านตลาดสะพานควายและดินแดง เพื่อสอบถามความเดือดร้อนเกี่ยวกับปากท้องของผู้ค้า ทำกรุงเทพฯ ให้ถูกลง โดยเฉพาะประเด็นจ่ายค่าปรับให้กับเทศกิจ แม้จะเป็นการใช้อย่างถูกต้องตามกฏหมาย มีใบเสร็จแต่ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำและซ้ำเติมความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ทำมาหากินอย่างสุจริต

 

นายชัชชาติ ระบุว่า จากการเดินสำรวจตลาดวัดหัวตะพาน ย่านดินแดง ส่วนใหญ่เป็นตลาดที่จัดอยู่ในโซนของด้านใน ทำให้ไม่เกิดปัญหาจ่ายค่าปรับเทศกิจ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่าพ่อค้าแม่ค้าต้องจ่ายค่าปรับให้กับเทศกิจปีที่ผ่านมามากถึง 100 ล้านบาท แบ่งเป็นรางวัลนำจับ 50 ล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้มีการแบ่งเข้ากับรัฐ แต่กลับพบว่าไม่ได้พัฒนาคุณภาพชีวิต บ้านเมืองก็ไม่ได้สะอาดขึ้น จากเงินค่าปรับของเทศกิจทุกเดือน เหมือนจ่ายค่าเช่าแผง

 

จากปัญหานี้ กทม. ต้องทบทวนการจ่ายค่าปรับที่อาจถูกตั้งคำถามว่าเป็นการส่วยหรือไม่ แม้จะมีใบเสร็จถูกต้องตามกฏหมาย โดยได้มีแนวคิดหากมีการกระทำผิดจริงมีการปรับก็อาจจะนำค่าปรับมาตั้งเป็นกองทุน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มผู้ค้าขายภายในตลาด ประกาศย้ำหากได้เป็นผู้ว่าฯ จะเดินหน้าปราบปรามการรับส่วย และการใช้เส้น

 

ขณะเดียวกัน สิ่งที่ผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครไม่ควรมองข้าม ก็คือปัญหาคนไร้บ้าน เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 พบว่ามีคนไร้บ้านหน้าใหม่เกิดขึ้นมากถึง 1,500 คน แต่คนจำนวนนี้กำลังขาดรายได้และอาชีพ ที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้ถูกมองไม่เท่าเทียมกับคนในสังคม ยืนยันว่าคนไร้บ้านไม่ใช่คนจิตเวช แต่ที่ต้องออกมาอาศัยอยู่นอกบ้าน เพราะมีปัญหาเศรษฐกิจ ครอบครัว และสุขภาพ 


ที่ผ่านมา กทม. เคยมีโครงการบ้านอิ่มใจ ใช้งบประมาณ 40 ล้านบาท แต่ก็พบว่ามีค่าใช้จ่ายต่อเตียงสูงถึง 17,000 บาทต่อเตียง เพื่อที่จะให้คนไร้บ้านได้เข้าไปอาศัย งบประมาณที่สูงเกินไป จึงต้องมาทบทวนว่าคุ้มค่าหรือไม่ เพราะหากใช้งบประมาณสูงขนาดนี้ จะต้องดูแลคนไร้บ้านได้มากขึ้น

 

นายชัชชาติ ยังยืนยันถึงความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยว่า ได้ลาออกจากพรรคเพื่อไทยมานานกว่าสองปีแล้ว และลงสมัครผู้ว่ากรุงเทพมหานครในนามของอิสระ ดังนั้นอยากให้ประชาชนให้โอกาส เพราะทุกวันนี้ไม่มีแม้คนในพรรคเพื่อไทยมาช่วยในการหาเสียง มีแต่คนรุ่นใหม่ที่เข้ามาร่วมกันออกแบบนโยบายเพื่อนชัชชาติ 200+ เพื่อทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่